RSS

แนะนำตัว

แนะนำตัว

แนะนำตัว

ศิลปวัฒนธรรมภาคเหนือ(วิถีชีวิตของคนภาคเหนือ)


วิถีชีวิตของคนภาคเหนือ

ลักษณะการดำเนินชีวิตของคนในภูมิภาค และปัจจัยที่มีผลต่อพัฒนาการการตั้งถิ่นฐาน และการดำเนินชีวิตของคนในภูมิภาค

การดำเนินชีวิตของคนไทยในแต่ละภูมิภาคจะมีทั้งความเหมือนและแตกต่างกัน ลักษณะการดำเนินชีวิตในปัจจุบันจะมีการเปลี่ยนแปลงไปจากอดีต ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับสภาพแวดล้อมที่เปลี่ยนแปลงไป การปรับตัวให้เข้ากับการดำรงชีวิต เป็นต้น

ลักษณะการดำเนินชีวิตของคนในภาคเหนือ ในอดีตและปัจจุบัน

ภาคเหนือเป็นภูมิภาคที่มีพื้นที่ส่วนใหญ่ประกอบด้วยภูเขาและที่ราบระหว่างหุบเขา ทิวเขาที่สำคัญ เช่น ทิวเขาแดนลาว ทิวเขาถนนธงชัย ทิวเขาผีปันน้ำ และทิวเขาหลวงพระบาง ถือเป็นแหล่งกำเนิดของแม่น้ำลำธารที่สำคัญหลายสาย ได้แก่ แม่น้ำปิง แม่น้ำวัง แม่น้ำยม และแม่น้ำน่าน ระหว่างทิวเขาต่าง ๆ เหล่านี้จะมีที่ราบแคบ ๆ ซึ่งเป็นบริเวณที่มีความอุดมสมบูรณ์ ใช้ปลูกพืชได้ผลดี เพราะที่ดินที่เกิดจากแม่น้ำพัดพาดินตะกอนมาทับถมกัน จึงมีประชากรตั้งถิ่นฐานมาช้านานจนกลายเป็นเมืองสำคัญต่าง ๆ ในภาคเหนือ เช่น เมืองเชียงใหม่ ลำปาง ลำพูน แพร่ น่าน ตาก พะเยา เป็นต้น

ในอดีต ชาวเหนือส่วนใหญ่ประกอบอาชีพเกษตรกรรม และเลี้ยงสัตว์อยู่ตามพื้นที่ราบระหว่างหุบเขา ส่วนชาวไทยภูเขามีอาชีพทำไร่เลื่อนลอย ปลูกฝิ่นอยู่บริเวณเขตภูเขาสูง การที่ภาคเหนือมีสภาพภูมิประเทศที่อุดมด้วยป่าไม้นานาชนิด ทั้งไม้สัก ไม้มีค่าอื่น ๆ จึงมีการนำไม้เหล่านั้นมาปลูกสร้างบ้านเรือนในสมัยแรก ๆ ที่เข้ามาตั้งถิ่นฐาน

การถางป่าเพื่อทำไร่เลื่อนลอยและปลูกฝิ่น ส่งผลให้พื้นที่ป่าไม้ในภาคเหนือลดจำนวนลง ซึ่งมีผลกระทบต่อสภาพแวดและการดำรงชีวิต คือ เกิดการพังทลายของดิน เมื่อฝนตกน้ำจะไหลลงมาอย่างรวดเร็วก่อให้เกิดน้ำท่วมและเกิดความแห้งแล้งในฤดูร้อน ปลูกพืชไม่ได้ผลดีเท่าที่ควร ในปัจจุบันจึงมีโครงการพัฒนาภาคเหนือที่ดำเนินตามพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ที่เรียกว่า โครงการหลวงเพื่อช่วยแก้ปัญหาความยากจนให้แก่ชาวเขาที่อาศัยอยู่บนที่สูง และชาวเมืองที่อาศัยในบริเวณที่ราบ

โครงการหลวงในเขตภาคเหนือมีจุดประสงค์ให้ราษฎรได้ตั้งถิ่นฐานเป็นหลักแหล่ง ส่งเสริมให้ปลูกพืชเมืองหนาว เช่น ท้อ แอปเปิล ชา ทิวลิป ลิลลี่ เป็นต้น ในขณะเดียวกันก็ช่วยการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติให้มีความอุดมสมบูรณ์ โดยมีการจัดตั้งสถานีวิจัยในหลาย ๆ พื้นที่ เช่น ที่ดอยอ่างขาง และดอยอินทนนท์ จังหวัดเชียงใหม่

นอกจากนี้ ลักษณะภูมิประเทศของภาคเหนือที่เต็มไปด้วยภูเขา หุบเขา มีโครงสร้างทางธรณีวิทยาที่เต็มไปด้วยแหล่งแร่ เช่น แร่ดีบุก วุลแฟรม เงิน ลิกไนต์ ทำให้ประชาชนรู้จักนำแร่เหล่สนี้มาใช้ประโยชน์เป็นเวลาช้านาน เช่น การทำเครื่องประดับและเครื่องใช้จากแร่เงิน การทำเหมืองลิกไนต์ ที่อำเภอแม่เมาะ จังหวัดลำปาง

ภาคเหนือเป็นภาคที่มีทิวทัศน์ธรรมชาติที่สวยงาม มีโบราณสถานหลายแห่งและมีอุณหูมิอากาศเย็นสบายกว่าภาคอื่น ชาวเมืองและชาวไทยภูเขายังคงรักษาวัฒนธรรมเก่าแก่ของตนไว้ จึงส่งผลให้ภาคเหนือมีผู้นิยมมาท่องเที่ยวมากมาย โดยเฉพาะที่จังหวัดเชียงใหม่ เชียงราย แม่ฮ่องสอน อุตสาหกรรมการท่องเที่ยวจึงทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงต่อการดำเนินชีวิตของผู้คน เช่น การผลิตงานหัตถกรรมในเวลาว่างก็ต้องเปลี่ยนมาทำการผลิตงานเพื่อขายเป็นของที่ระลึก งานหัตถกรรมที่สำคัญ เช่น การทำเครื่องเขิน เครื่องเงิน การทอผ้าฝ้ายและผ้าไหม การแกะสลักไม้ การทำร่มกระดาษสา การปั้นเครื่องปั้นดินเผา เป็นต้น ซึ่งเป็นการสร้างรายได้เพิ่มจากอาชีพเกษตรของชาวบ้าน ทำให้ชาวบ้านมีการดำเนินชีวิตที่ดีขิ้น

ปัจจุบัน สภาพแวดล้อมตามธรรมชาติในภาคเหนือกำลังเปลี่ยนแปลงไป เพราะผู้คนจากต่างถิ่นอพยพเข้ามายังเชียงใหม่มากขึ้น เพื่อลงทุนทำธุรกิจหรือรับจ้างทำงาน ทำให้มีการขายที่ดินให้พวกนายทุนเพื่อสร้างที่พักอาศัยและรองรับอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว ซึ่งมีส่วนในการทำลายทัพยากรธรรมชาติ เช่น ป่าไม้ ภูเขา เมื่อมีนักท่องเที่ยวเพิ่มขึ้น สภาพแวดล้อมตามเมืองใหญ่ในภาคเหนือ เช่น ที่จังหวัดเชียงใหม่กำลังเผชิญปัญหาสิ่งแวดล้อมเช่นเดียวกับกรุงเทพมหานคร และเมืองใหญ่อื่น ๆ เช่น ปัญหาจราจร ปัญหาชุมชนแออัด ปัญหาน้ำเน่าเสีย ปัญหาขยะและสิ่งปฏิกูล ปัญหาการรุกล้ำทำลายโบราณสถานต่าง ๆ เป็นต้น

ศิลปวัฒนธรรมภาคเหนือ(ภาษาของภาคเหนือ)

ภาษาของภาคเหนือ
ภาษาถิ่นที่ใช้ในภาคเหนือตอนบน หรือภาษาในอาณาจักรล้านนาเดิม มักจะพูดกันมากใน เชียงใหม่ แม่ฮ่องสอน เชียงราย พะเยา น่าน ลำพูน ลำปาง ตาก และ แพร่ และยังมีการพูดและการผสมภาษากันในอุตรดิตถ์ สุโขทัย พิษณุโลก และเพชรบูรณ์อีกด้วย
นอกจากนี้ คำเมืองเป็นภาษาของคนไท-ยวน ซึ่งเป็นกลุ่มชนที่อาศัยอยู่ในภาคเหนือตอนบนของประเทศไทยหรืออาณาจักรล้านนา และ อาณาจักรโยนกในอดีต ปัจจุบันกลุ่มคนไท-ยวนได้กระจัดกระจายและมีถิ่นที่อยู่ในจังหวัดสระบุรี จังหวัดราชบุรี จังหวัดนครราชสีมาอีกด้วย
คำเมืองมีไวยากรณ์เหมือนกับภาษาไทยกลางแต่ใช้คำศัพท์ไม่เหมือนกัน แต่เดิมได้ใช้ คู่กับ ตั๋วเมือง,ตัวเมือง ซึ่งเป็นตัวอักษรของอาณาจักรล้านนาที่อักษรมอญใช้เป็นต้นแบบ
ภาษาเหนือหรือภาษาล้านนาเป็นภาษาย่อยหรือภาษาถิ่นของภาษาไทย ใช้กันในดินแดนล้านนา 8 จังหวัดทางภาคเหนือของประเทศไทย ได้แก่ เชียงใหม่ เชียงราย พะเยา แพร่ น่าน ลำปาง ลำพูน และแม่ฮ่องสอน
ความแตกต่างของภาษาพูด (คำเมือง) ระหว่างภาษากลางและภาษาเหนือคือ การใช้คำศัพท์ พยัญชนะ สระ หรือวรรณยุกต์ต่างกัน ตัวอย่างเช่น
คำศัพท์ต่างกัน
(ภาษากลาง - ภาษาเหนือ)
ยี่สิบ - ซาว
ไม่ - บ่
เที่ยว - แอ่ว
ดู - ผ่อ
สวย - งาม
อีก - แหม
นาน - เมิน
สนุก, ดี, เพราะ - ม่วน
อร่อย - ลำ

แหล่งที่มา
http://lms.thaicyberu.go.th/officialtcu/main/advcourse/presentstu/course/ww521/khwanchai/khwanchai-web2/content/page1.htm

ศิลปวัฒนธรรมภาคเหนือ(การแสดงของภาคเหนือ)


การแสดงของภาคเหนือ

ในภาคเหนือภูมิประเทศเป็นป่าเขา ต้นน้ำลำธาร อุดมด้วยทรัพยากรธรรมชาติ การทำมาหากินสะดวกสบาย ชาวเหนือจึงมีอุปนิสัยอ่อนโยนยิ้มแย้มแจ่มใส มีน้ำใจไมตรี การแสดงพื้นเมืองจึงมีลีลาอ่อนช้อยงดงามละเมียดละไมเนิบนาบอ่อนหวาน

การแสดงพื้นเมืองภาคเหนือเรามักเรียกว่า ฟ้อน มีลักษณะคล้ายระบำ คือมีผู้แสดงหลายคนเป็นชุดเป็นหมู่ ร่ายรำทำท่าเหมือนๆกัน แต่งกายเหมือนกัน มีการแปรแถวแปรขบวนต่างๆ แต่ที่ไม่เรียกว่าระบำ เพราะฟ้อนมีจังหวะและลีลาเป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัวไม่เหมือนระบำหรือการแสดงอื่นๆ

การแสดงพื้นเมืองภาคเหนือมีหลายอย่าง ได้แก่

- ฟ้อนเล็บหรือฟ้อนเมือง - ฟ้อนเทียน - ฟ้อนลาวแพล

- ฟ้อนรัก - ฟ้อนม่านมุ้ยเชียงตา - ฟ้อนเงี้ยว

- ฟ้อนดวงเดือน - ฟ้อนเจิงและตบมะผาบ - ฟ้อนบายศรี

- ฟ้อนดวงดอกไม้ - ฟ้อนดาบ

ฟ้อนเทียน

เดิมคงเป็นการฟ้อนสักการะบูชาสิ่งศักดิ์สิทธิ์ ต่อมาแสดงในงานพิธีสำคัญในคุ้มเจ้าหลวง ผู้ฟ้อนเป็นเจ้านายเชื้อพระวงศ์ฝ่ายใน เมื่อ พ.. 2469 พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว เสด็จประพาสเมืองเหนือ เจ้าดารารัศมีทรงฝึกหัดสาวเหนือฟ้อนรับเสด็จและครูนาฏศิลป์ของกรมศิลปากร ได้นำมาสอนในวิทยาลันนาฏศิลป์ต่อมา

ลักษณะการแสดง ผู้ฟ้อนเป็นหญิงล้วน ถือเทียนจุดไฟมือละเล่มนิยมแสดงในเวลากลางคืน ความงามของฟ้อนเทียนอยู่ที่แสงเทียน เต้นระยิบระยับขณะที่ผู้ฟ้อนหมุนข้อมือ และลีลาการเคลื่อนไหวช้าๆเห็นแสงเทียนเดินเป็นทาง มีการแปรขบวนควงคู่สลับแถว เข้าวง ต่อมือ ฯลฯ งดงามมาก

การแต่งกาย นุ่งซิ่นยาวกรอม สวมเสื้อแยนยาวคอปิด คาดเข็มขัดทับ ห่มสไบ เกล้าผมมวยสูงประดับดอกไม้ล้อมมวย ห้อยอุบะยาวเคลียไหล่ ถือเทียนมือละเล่ม

ดนตรีประกอบ มีปี่แน กลองแอว์ กลองตะโล้ดโป้ด ฉาบใหญ่ ฆ้องโหม่ง และฆ้องหุ่ย

ถ้าแสดงกลางวันนิยมแสดงฟ้อนเล็บ คือ ผู้ฟ้อนสวมเล็บยาว 8 เล็บแทนการถือเทียน ลีลาการฟ้อนคล้ายคลึงกัน การแต่งการและดนตรีก็เหมือนกัน


ศิลปวัฒนธรรมภาคเหนือ(อาหารของภาคเหนือ)


อาหารของภาคเหนือ

อาหารภาคเหนือ ส่วนใหญ่รสชาติไม่จัด ไม่นิยมใส่น้ำตาลในอาหาร
ความหวานจะได้จากส่วนผสมของอาหารนั้นๆ เช่น ผัก ปลา และนิยมใช้
ถั่วเน่าในการปรุงอาหาร

คนเหนือมีน้ำพริกรับประทานหลายชนิด อาทิ น้ำพริกหนุ่ม น้ำพริกอ่อง
ผักที่ใช้จิ้มส่วนมากเป็นผักนึ่ง

ส่วนอาหารที่รู้จักกันดีได้แก่ ขนมจีนน้ำเงี้ยว ที่มีเครื่องปรุงสำคัญ
ขาดไม่ได้คือ ดอกงิ้ว ซึ่งเป็นดอกนุ่มที่ตากแห้ง ถือเป็นเครื่องเทศพื้นบ้าน
ที่มีกลิ่นหอม หรืออย่างตำขนุน แกงขนุน ที่มีส่วนผสมเป็นผักชนิดอื่น เช่น
ใบชะพลู ชะอม และมะเขือส้ม

อาชีพของคนภาคเหนือ

ชาวเหนือส่วนใหญ่มีอาชีพทำนา ทำไร่ การทำนาส่วนใหญ่จะเป็นนาดำ ที่ลุ่มมาก ๆ จึงทำนาหว่าน คนเหนือปลูกข้าวเหนียวกันเป็นส่วนใหญ่ เพราะบริโภคข้าวเหนียว ข้าวเหนียวภาคเหนือถือเป็นข้าวที่มีคุณภาพดี นึ่งสุกแล้วขาวสะอาด อ่อนและนิ่มน่ารับประทาน ข้าวพันธ์ที่มีชื่อเสียง คือ ข้าวสันป่าตอง นอกจากทำนาแล้วยังปลูกพืชไร่อื่น ๆ เช่น หอม กระเทียม ถั่ว ยาสูบ เป็นต้น นอกจากปลูกข้าวแล้ว อาชีพทำสวนก็เป็นที่นิยมกัน โดยเฉพาะทำสวนลำไย และลิ้นจี่ นอกจากจะขายให้คนไทยได้รับประทานแล้ว ยังส่งขายต่างประเทศอีกด้วย

ยังมีอาชีพอีกอย่างหนึ่งซึ่งเป็นวัฒนธรรมของชาวเหนือ คือ การทำเมี่ยง ชาวเหนือชอบกินหมากและอมเมี่ยง โดยเอาใบเมียงที่เป็นส่วนใบอ่อนมาหมักให้มีรสเปรี้ยวอมฝาด เมื่อหมักนานได้ที่ เวลาจะเอาใบเมี่ยงมาอม ก็ผสมเกลือเม็ดหรือของกินอย่างอื่นแล้วแต่ชอบ

นอกจากการอมเมี่ยง คนล้านนาทั้งหญิงและชายจะสูบบุหรี่ที่มวนด้วยใบตองกล้วย มวนหนึ่งขนาดเท่านิ้วมือ และยาวเกือบคืบ ชาวบ้านเรียกบุหรี่ชนิดนี้ว่า ขี้โยหรือ บุหรี่ขี้โยที่นิยมสูบกันมากอาจเนื่องมาจากอากาศหนาวเย็น การสูบบุหรี่คงทำให้ร่างกายอบอุ่นขึ้น

นอกจากอาชีพเกษตรกรรม ชาวเหนือยังประกอบอาชีพอื่น อาจเรียกได้ว่าเป็นหัตถกรรมหรืออุตสาหกรรมในครัวเรือนก็ได้ คือ ผู้หญิงจะทอผ้าเมื่อเสร็จจากการทำนา นอกจากนั้นยังมีการแกะสลัก การทำเครื่องเงิน เครื่องเขิน และการทำเครื่องเหล็ก เป็นต้น


แหล่งที่มา
http://student.swu.ac.th/sc481010115/north.htm

Calendar